ถอดบทเรียนกิจกรรมเชื่อมโยงการประยุกต์ใช้ต้นแบบสารสนเทศโลจิสติกส์ในห่วงโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมประจำปีงบประมาณ 2565
ถอดบทเรียนกิจกรรมเชื่อมโยงการประยุกต์ใช้ต้นแบบสารสนเทศโลจิสติกส์ในห่วงโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรม
ภายใต้โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมประจำปีงบประมาณ 2565
นายพลภัทร บริรักษ์ธนกุล
ผู้เขียนบทความ
ภายใต้กิจกรรมเชื่อมโยงการประยุกต์ใช้ต้นแบบ
สารสนเทศโลจิสติกส์ในห่วงโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรม
จากภาวะวิกฤตการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จากปี พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2565 (ปีปัจจุบัน) นั้นเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นปัญหาระบบโซ่อุปทานในระดับโลก และหลายสถานประกอบการได้รับผลกระทบในเชิงลบ รวมถึงได้รับประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาเพื่อที่จะประคองสถานประกอบการให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หลายๆ สถานประกอบการทั่วโลกเห็นแล้วว่าความเสี่ยงด้านโซ่อุปทาน (Supply Chain Risk) เป็นความเสี่ยงลำดับต้นๆ ที่จะส่งผลต่อการเติบโตขององค์กร ดังนั้นสถานประกอบการจึงจำเป็นต้องวางแผนรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้แล้วสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบโซ่อุปทาน ทำให้หลายบริษัทพยายามหาทางบริหารจัดการให้เกิดความยืดหยุ่น คล่องตัว พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และหนึ่งในเครื่องมือที่นิยมในการฝ่าวิกฤตการณ์นี้ก็คือ การปรับปรุงระบบโซ่อุปทานด้วยการนำระบบสารสนเทศทางด้านโลจิสติกส์เข้ามาใช้ในระบบโซ่อุปทานของสถานประกอบการนั้นๆ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างคล่องตัว กองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงปัญหาของสถานประกอบการภาค SMEs ของประเทศไทย ที่ต้องการนำระบบสารสนเทศทางด้านโลจิสติกส์เข้ามาใช้ปรับปรุงระบบโซ่อุปทานของตนเอง โดยที่หลายๆ สถานประกอบการนั้นติดปัญหาที่ตรงที่ว่า “ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ?” จึงได้จัดกิจกรรมการประยุกต์ใช้ต้นแบบสารสนเทศโลจิสติกส์ในห่วงโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ให้แก่สถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้สถานประกอบการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านโลจิสติกส์มาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหากิจกรรมด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน และช่วยเหลือให้สถานประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ (Logistics Cost) ได้
ในที่นี้หลายๆ ท่านน่าจะได้ยินคำว่า “Resilience ” เนื่องจากน่าจะเป็นคำที่ยอดฮิต และเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางของคนในวงการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานพูดถึงในวิกฤตการณ์โควิด-19 นี้ โดยคำว่า “Resilience” คือ“การล้มแล้วลุกเร็ว” ผู้เชี่ยวชาญโลจิสติกส์และโซ่อุปทานหลายๆ ท่านก็นิยามคำแปลนี้ เพราะน่าจะเหมาะกับวิกฤตการณ์โควิด-19 นี้มาก เนื่องจากแทบจะทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ต้องฟื้นตัว ลุกขึ้นให้ได้อย่างรวดเร็ว อย่างแข็งแกร่งและปิดช่องว่างของปัญหาที่เคยเกิด และจะดีแค่ไหนถ้าหากสถานประกอบการได้มีโอกาสแบ่งปันประสบการณ์แนวทางการดำเนินงานแบบ“Resilience ” หรือ “การล้มแล้วลุกเร็ว” ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมการประยุกต์ใช้ต้นแบบสารสนเทศโลจิสติกส์ในห่วงโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรม ได้มีการจัดกิจกรรมการเชื่อมโยงการประยุกต์ใช้ต้นแบบสารสนเทศโลจิสติกส์ในห่วงโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรม ให้แก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อสร้างเครือข่ายในห่วงโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมให้เกิดพันธมิตรทางธุรกิจในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เป็นกิจกรรมที่นำผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับงานโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เข้าร่วมกิจกรรมฯ มาสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญคือเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมซึ่งกิจกรรมการเชื่อมโยงนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการแลกเปลี่ยน แบ่งปันของข้อมูลให้แก่กันและกันของสถานประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมแล้วนั้น ยังเป็นแนวทางของเกณฑ์ประกวดรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นในหมวดที่ 5 ความร่วมมือด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานกับองค์กรภายนอกที่ไม่ใช่ซัพพลายเออร์และลูกค้า ของรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ที่ระบุไว้ว่า "องค์กรมีความร่วมมือกับองค์กรที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่ซัพพลายเออร์ และลูกค้าขององค์กร ในการพัฒนาปรับปรุงการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ มีแผนงานหรือโครงการที่ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานร่วมกันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อเนื่อง สามารถวัดผลได้ และอยู่บนพื้นฐานของการได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย(Win-Win Solution)" และเป็นเกณฑ์ที่ทางกองโลจิสติกส์ ได้เคยทำสถิติว่าเป็นหมวดที่สถานประกอบการที่เข้าประกวดได้คะแนนน้อยที่สุด ผู้จัดจึงได้เล็งเห็นแนวทางการสร้างเครือข่าย พันธมิตร ของสถานประกอบการที่ไม่เกี่ยวข้องกัน(ไม่ใช่ซัพพลายเออร์ไม่ใช้ลูกค้า) เพื่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาร่วมกันในอนาคต
การจัดกิจกรรมการเชื่อมโยงได้ดำเนินการในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบออนไลน์ (ระบบ Zoom) โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น10 กิจการ และบุคคลภายนอกที่มีความสนใจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยได้รับเกียรติจากนางสาวปรีดา อ่อนประดิษฐ ผู้อำนวยการกลุ่มสารสนเทศโลจิสติกส์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดกิจกรรม ในช่วงแรกของกิจกรรมจะเป็นการบรรยายในหัวข้อ“แนวทางการลดต้นทุนค่าขนส่งในสถานการณ์น้ำมันแพง” จากอาจารย์สิริพงศ์ จึงถาวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการการขนส่ง ได้บรรยายให้ความรู้ในเรื่องของการลดต้นทุนในสถานการณ์ที่น้ำมันทำราคาสูงสุดในรอบกว่า10 ปี ช่วยให้ผู้รับฟังสามารถที่จะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้และปรับตัวเพื่อบริหารต้นทุนด้านการขนส่งได้ทันทีต่อด้วยกิจกรรมเชื่อมโยงการประยุกต์ใช้ต้นแบบสารสนเทศโลจิสติกส์ในห่วงโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมโดยมีการนำเสนอผลงานการพัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ หลังจากเข้าร่วมโครงการกับทางกองโลจิกติกส์กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันการพัฒนาระบบต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้กับกระบวนการเพื่อลดต้นทุนทั้งด้านกระบวนการ ด้านเวลาและด้านค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังมีการนำเสนอข้อมูลบริษัทและจุดประสงค์ต่างๆที่ต้องการสร้างการเชื่อมโยงกันในอนาคต ทำให้เกิดโอกาสการจับมือกันระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจเพื่อต่อยอดการพัฒนาต่ออย่างมั่นคง ต่อด้วยในช่วงบ่ายมีการบรรยายเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศโลจิสติกส์ รวมถึงการสอนวิธีการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับกระบวนการการทำงาน โดยอาจารย์ฤกษ์อรุณ เจียมสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นเสมือนเครื่องมือที่จะช่วยให้ระบบการจัดการทั้งด้านสินค้า/บริการ หรือการจัดการข้อมูล ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจะสามารถช่วยให้กับผู้ประกอบการที่กำลังจะมีแผนขยายกิจการได้มีระบบการจัดการที่สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของข้อมูล การเพิ่มขึ้นของบุคลากร การเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกค้า ให้เป็นไปอย่างมีระบบ ถูกต้อง ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน
กิจกรรมเชื่อมโยงการประยุกต์ใช้ต้นแบบสารสนเทศโลจิสติกส์ในห่วงโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรม เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างธุรกิจที่เป็นต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำของโซ่อุปทาน ร่วมสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เข้มแข็งมีศักยภาพสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายและต่อยอดธุรกิจร่วมกัน รวมทั้งเป็นการประสานพลังในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าสู่ระดับสากล โดยอาศัยแนวทางการจัดการระบบโซ่อุปทานยุคใหม่ คือ การปรับรูปแบบการจัดการระบบโซ่อุปทานแบบมีขั้นตอนต่อเนื่องเป็นแบบเครือข่ายพันธมิตร ที่สามารถเพิ่งพาอาศัยความเชื่อมโยงของข้อมูลในการบริหารจัดการให้เกิดความรวดเร็ว คล่องตัว และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผู้เขียนยังมองว่านอกจากสถานประกอบการที่ต้องปรับตัวในวิกฤตการณ์แบบนี้แล้ว การมีพันธมิตรนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน